กิเลส
?
ความหมายของคำว่า"กิเลส"
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ให้ความหมายว่า"
เครื่องทำให้ใจเศร้าหมอง ได้แก่
โลภ โกรธ หลง เช่น
ยังตัดกิเลสไม่ได้ กิเลสหนา
กิริยามารยาท ในคำว่า กิเลสหยาบ"
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)
ให้ความหมายว่า "
สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง,
ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด
ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์"
พุทธทาสภิกขุ
ให้ความหมายว่า "ความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูก็ตาม
เป็นของกูก็ตาม นี่แหละคือ
แม่บทของกิเลสทั้งปวง"
พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์
ให้ความหมายว่า "
คำว่ากิเลสตรงกับคำว่าโรค
กิเลสเป็นโรคของจิต
หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตเสื่อมโทรมนั่นเอง"
สุชีพ ปุญญานุภาพ
ให้ความหมายว่า "
คือความไม่ดีไม่งาม
หรือความเศร้าหมองในจิตใจ
อันกล่าวโดยย่อ ได้แก่ ความโลภ
ความโกรธ และความหลง"
ดร.เดือน คำดี
ให้ความหมายว่า "
สภาวะที่ทำให้จิตเศร้าหมอง
หรือเป็นเครื่องสกัดกั้นไม่ให้ถึงความบริสุทธิ์สะอาดในกาย
วาจา และใจ"
จากคำนิยามความหมายของคำว่า"
กิเลส" ข้างต้นนี้
อาจสรุปได้ว่า กิเลสหมายถึง
สภาพที่เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง
เป็นสภาพขัดขวางต่อความเจริญทางจิต
และเป็นสภาพทำให้จิตขาดความเป็นปกติ
กล่าวคือ
ตามธรรมชาติแห่งจิตดั้งเดิมมีความบริสุทธิ์เป็นปกติ
แต่ต่อมาถูกกิเลสทำให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์
ดังพุทธพจน์ที่ว่า " ปภสรมิทํ
ภิกขเว จิตตํอาคนตุเกหิ
อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฎฐํ" แปลว่า
ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส
ถูกกิเลสที่จรมาทำให้เศร้าหมอง
มีหลายศัพท์ที่มีความหมายเดียวกันกับกิเลสหรือเป็นไวพจน์องกิเลส
เช่น ตัณหา โอฆะ สังโยชน์ คันถะ
โยคะ อาสวะ เป็นต้น
ประเภทของกิเลส
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงกิเลสไว้มากมายหลายประเภท
โดยต่างเวลา สถานที่ และบุคคล
จึงไม่อาจทราบจำนวนทั้งหมดของกิเลสว่ามีจำนวนเท่าใด
อาจเป็นไปได้ว่าการที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสจำนวนสุทธิของกิเลสนั้น
เพราะว่ากิเลสมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนและสรรพสัตว์มีกิเลสแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกันตามระดับของสภาพจิตที่ไม่เหมือนกัน
สังเกตได้จากหลักธรรมที่ทรงแสดงนั้นอนุกูลหรือเหมาะแก่จริตหรืออัชฌาศัยของผู้ฟังเป็นอย่างยิ่งทั้งนี้เป็นเพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอัชฌาศัยของผู้ฟังก่อนแสดงธรรม
เหตุนี้ทำให้ผู้ฟังบรรลุธรรม
คงเป็นเพราะเหตุนี้
กิเลสจึงถูกแสดงไว้ตามที่ปรากฎในหลายสูตรและมีหลายหมวดหมู่เหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง
ในพุทธปรัชญา คำว่า "
กิเลส "
เป็นคำที่มีความหมายกว้าง
หมายถึงสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมองทุกประเภท
แต่กิเลสที่เป็นอกุศลมูลหรือต้นเค้าของกิเลสทั้งหมด
มี ๓ ประเภท คือ:
-โลภะ คือ ความทะยานอยาก
-โทสะ คือ ความคับแค้น
-โมหะ คือ ความลุ่มหลง
กิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้
เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กิเลสมากมายเกิดติดตามมา
กิเลสนี้มีชื่อเรียกและมีคุณลักษณะแตกต่างกัน
กล่าวคือ
หากมองในแง่ของความทะยานอยากเรียกว่า
" ตัณหา "
มองในแง่เครื่องร้อยรัดเรียกว่า
" คันถะ "
มองในแง่ความกว้างใหญ่เหมือนมหาสมุทรเรียกว่า
" โอฆะ " เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ากิเลสที่แยกย่อยออกไปมีจำนวนมากมาย
ดังสำนวนโบราณที่ว่า "
กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด "
ในคำภีร์ไตรภูมิพระร่วง
มีการกล่าวถึงจำนวนกิเลสและวิธีนับไว้
ในอรรถกถาปฐมสมันตปาสาทิกา
กล่าวว่า "
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ได้ทรงหักกิเลสเครื่องเร่าร้อนกระวนกระวายทุกอย่างตั้งแสนอย่าง
" (ที่ระบุไว้นับได้ ๓๑๐ อย่าง)
ส่วนในพระไตรปิฎกนับกิเลสได้จำนวน
๓๓๖ อย่าง เป็นที่น่าสังเกตว่า
คัมภีร์ทั้งสามนี้ได้ระบุจำนวนกิเลสด้วยสำนวนโวหารไม่เหมือนกัน
เพื่อให้หมายรู้ว่ากิเลสมีจำนวนมากมายนัก
แต่มิมุ่งหมายจำนวนกิเลสที่แน่นอน
เหมือนสำนวนว่า "โจรห้าร้อย "
ฉะนั้น เพราะเหตุนี้
จึงไม่สามารถกำหนดได้โดยละเอียดว่ากิเลสทั้งหมดมีจำนวนเท่าใด
แต่อาจเข้าใจได้ว่า
กิเลสที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงเท่าที่ปรากฎในคัมภีร์ต่างๆนั้น
น่าจะเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
เพราะเหตุที่ธรรมที่ตรัสแสดงเป็นเพียงส่วนน้อยในส่วนใหญ่แห่งธรรมทั้งหลาย
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นเหมือนใบไม้ในกำมือเดียว
ฉะนั้น
ในคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล
(น.๒๑๕) วิสุทธิมรรค ภาค๑ (น.๒๗๐)
และพระไตรปิฎก (เถร.อ. ๒/๒๔, วินย.ฎีกา
๑/๔๘๑)
ได้จำแนกกิเลสในความหมายในนัยคือสิ่งที่คอยขัดขวางความดีโดยเรียกว่า
" มาร " ไว้ ๕ ประเภท คือ :
๑. กิเลสมาร คือ
มารคือกิเลส
๒. ขันธมาร คือ
มารคือขันธ์ห้า
๓. อภิสังขารมาร คือ
มารคือสิ่งที่เป็นตัวปรุงแต่งหรือถูกปัจจัยปรุงแต่ง
๔. เทวบุตรมาร คือ
มารคือเทวบุตรที่ใฝ่ต่ำ
๕. มัจจุมาร คือ
มารคือความตาย
เป็นที่น่าสังเกตว่า
การจำแนกกิเลสในความหมายของคำว่ามารนี้
ท่านจำแนกรวมกิเลสที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมเข้าด้วยกัน
กล่าวคือ มารทั้ง ๕
ประเภทนี้เป็นสภาวธรรมฝ่ายอกุศลที่ปรากฎภายนอกและภายในตนเอง
ซึ่งต่างจากอกุศลมูล ( โลภะ โทสะ
และโมหะ) ที่เกิดภายในตนเอง (อัตตสัมภูต)
เท่านั้น และ คำว่า " ตน "
ในที่นี้ก็หมายถึงจิตเท่านั้น
ระดับของกิเลส
เกี่ยวกับระดับของกิเลสนี้
ท่านจำแนกไว้ ๓ ระดับ คือ :
๑. กิเลสอย่างหยาบ (วีติกกมกิเลส)
คือ
กิเลสระดับต้นที่เป็นเหตุให้แสดงพฤติกรรมที่เร่าร้อนและรุนแรงทางกายและวาจาของบุคคลผู้หมุกมุ่นในกามคุณ
๕ อย่างรุนแรง กิเลสระดับนี้
ได้แก่ อกุศลกรรมบท ๑๐ อย่าง
?
มี
การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์
เป็นต้น
กิเลสระดับนี้กำจัดได้ด้วยศีล
๒. กิเลสอย่างกลาง (
ปริยุฎฐานกิเลส) คือ
กิเลสระดับกลางที่เป็นปฎิปักข์ต่อความสงบแห่งใจ
คอยขัดขวางไม่ให้ใจเกิดสมาธิ
กิเลสระดับนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕ มี
กามฉันทะ พยาบาท เป็นต้น
และอุปกิเลส ๑๖ มีความโกรธ
ความถือตัว เป็นต้น
กิเลสระดับนี้กำจัดได้ด้วยสมาธิ
๓. กิเลสอย่างละเอียด (อนุสัยกิเลส)
คือ
กิเลสระดับสูงสุดที่หมักหมมนอนเนื่องแนบแน่นในส่วนลึกแห่งใจจนเกิดความรู้สึกว่ากิเลสหมดแล้ว
แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ต่อเมื่อใจถูกอารมณ์อันเป็นปฎิปักข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
กิเลสระดับนี้จะปรากฎขึ้นทันที
เปรียบเหมือนตะกอนที่นอนนิ่งในน้ำ
หากน้ำถูกรบกวนอยางรุนแรงมันจะฟูฟุ้งขึ้นทันทีตามแรงกระทบของน้ำนั้นๆ
กิเลสระดับนี้ ได้แก่
อนุสัยกิเลส ๗ มี กามราคะ ปฎิฆะ
เป็นต้น วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ มี
โอภาส ญาณ เป็นต้น
กิเลสระดับนี้กำจัดได้ด้วยปัญญา
สมุฎฐานของกิเลส
เกี่ยวกับสมุฎฐานของกิเลสหรือที่ที่กิเลสเกิดนั้น
ในคัมภีร์ขุททกนิกาย มหานิเทศ
แสดงไว้ว่า " โลโภ โทโส จ โมโห
ปุริสํ ปาปเจตสํ หึสนติ อตตสมภูตา
ตจสารํ ว สมผลํ " แปลว่า ความโลภ
ความโกรธ และความหลง
เกิดจากตัวเอง
ย่อมเบียดเบียนใจคนเลว
เปรียบเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
ฉะนั้น
พุทธพจน์บทนี้หมายความว่า
กิเลสเกิดขึ้นภายในตนเองด้วยการอิงอาศัยเหตุปัจจัยภายในและภายนอกเป็นสิ่งเร่งเร้าผลักดันให้เกิดขึ้น
กล่าวคือ อายตนะภายใน ได้แก่ ตา
หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
กระทบกับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป
เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ
และธรรมารมณ์
ก่อให้เกิดความคิดปรุงแต่งว่าเป็นสุขบ้าง
เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆบ้าง
ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของหลักปฎิจจสมุปบาท
กิเลสเป็นเจตสิกธรรมฝ่ายอกุศลมีการเกิดดับพร้อมกับจิต
และมีอารมณ์กับวัตถุอันเดียวกันกับจิต
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
ได้แสดงจิตโดยพิศดารว่ามีจำนวน
๑๒๑ ดวง หรือ ๘๙ ดวง โดยย่อ
มีการจำแนกอกุศลจิตออกเป็น ๑๒
ดวง คือ :
-โลภมูลจิต ๘ ดวง
-โทสมูลจิต ๒ ดวง
-โมหมูลจิต ๒ ดวง
เป็นที่น่าสังเกตว่า
อกุศลจิตหรือจิตที่ประกอบด้วยกิเลสตามนัยนี้มีจำนวนเพียง
๑๒ ดวง จากจำนวนทั้งหมด ๑๒๑ ดวง (กุศลจิต
๒๑ ดวง)
แต่ปรากฎว่าอกุศลจิตกลับมีพลังมากในการลิขิตชีวิตของสรรพสัตว์ให้หวั่นไหวและเวียนว่ายในวัฎทุกข์
วิธีละกิเลส
ผู้ปรารถนาละกิเลส
จะต้องดำเนินตนตามมรรควิถีแห่งมัชฌิมาปฎิปทาเป็นปฐม
และต้องปฎิบัติตนตรงตามมรรคนั้นด้วยความพอดีคือไม่ยิ่งไม่หย่อนจนเกินไป
ในเรื่องนี้ พุทธทาสภิกขุ
ให้ทัศนะว่า " มัชฌิมาปฎิปทานี้
ระวังดูให้ดีๆ
มันไม่เกี่ยวกับคำว่าเคร่งนะ
ถ้าพูดว่าเคร่งอย่างถูกต้อง
ต้องคือมัชฌิมาปฎิปทา
แต่ถ้าเกินมัชฌิมาปฎิปทาแล้วก็
มันเกินเคร่งแล้ว มันบ้าแล้ว "
วิธีละกิเลส ๕ ประการ คือ :
๑. วิกขัมภนปหาน คือ
การละกิเลสด้วยการข่มไว้ของผู้บำเพ็ญฌาน
๒. ตทังคปหาน คือ
การละกิเลสด้วยองค์นั้นๆ
กล่าวคือ
การใช้ธรรมที่เป็นปฎิปักข์กันเป็นเครื่องละ
เช่น ความโกรธละด้วยเมตตาธรรม
เป็นต้น
๓. สมุจเฉทปหาน คือ
การละกิเลสด้วยการตัดขาดโดยโลกุตตรมรรค
๔. ปฎิปัสสัทธิปหาน คือ
การละกิเลสด้วยความสงบระงับโดยโลกุตตรมรรคจนกว่าจะบรรลุนิพพาน
๕. นิสสรณปหาน คือ
การละกิเลสด้วยการสละสิ้นความทุกข์อย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ บรรลุนิพพาน
คำที่มีความหมายเดียวกับ
" ปหาน " ศัพท์ มีหลายคำ เช่น
นิโรธ วิมุติ วิเวก วิราคะ
โวสสัคคะ
เป็นต้นศัพท์เหล่านี้เป็นไวพจน์ของกันและกัน
นอกจากวิธีละกิเลสทั้ง ๕
ประการนี้ ยังมีวิธีละกิเลสอีก ๗
ประการ ดังพุทธพจน์ที่ว่า "
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่
ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะการเสพเฉพาะก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะการอดกลั้นก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะการเว้นรอบก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะการบรรเทาก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะการอบรมก็มี
"
ในการละกิเลสนี้
ผู้มากด้วยกิเลสคือราคะ โทสะ
และโมหะ แต่อินทรีย์ ๕ ( สัทธา
วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา)
มีกำลังยิ่ง
จะสามารถละกิเลสได้เร็วกว่าผู้มีกิเลสน้อยแต่อินทรีย์
๕ ไม่มีกำลัง
นิพพาน
"ความหมายของคำว่า
"นิพพาน
หลักคำสอนในพุทธศาสนาที่นับว่าสำคัญที่สุดคือนิพพาน
นิพพานเป็นภาวะแห่งปรมัตถธรรมอันสูงสุดและเป็นจุดหมายหลักแห่งชีวิตของพุทธศาสนิกชน
คำสอนต่างๆที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงย่อมเป็นไปเพื่อการบรรลุนิพพานทั้งสิ้น
เพื่อความเข้าใจในเรื่องนิพพาน
จะให้ความหมายพอสังเขปดังต่อไปนี้
คำว่า " นิพพาน "
เป็นภาษาบาลีมาจาก นิ อุปสรรค (แปลว่า
พ้นไป หมดไป เลิก ไม่มี) + วาน (แปลว่า
พัดไป เป็นไป เครื่องรึงรัด)
หากใช้เป็นกิริยาของไฟหรืออาการของไฟ
แปลว่า ดับไฟ ดับร้อน เย็นลง
หากใช้เป็นกิริยาของจิตหมายถึงความเย็นใจ
ไม่มีความกระวนกระวาย
ไร้เครื่องเสียดแทง
ในภาษาสันสกฤตเป็น "นิรวาน"
มาจากคำว่า นิร+วาน
คำแรกมีความหมายเชิงปฎิเสธ
ส่วนคำหลังเป็นชื่อของกิเลส
คำว่า นิรวาน หมายถึงการดับกิเลส
ในวิสุทธิมรรค
พระพุทธโฆษาจารย์
ให้ความหมายว่า "นิพพาน
คือสภาวะที่ปราศจากกิเลสที่เรียกว่า
วาน . หมายถึง
เครื่องรึงรัดพันธนาการชีวิตให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด
"
พจนากรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
" นิพพาน
คือความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์
(น.) ดับกิเลสและกองทุกข์ (ก.) ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์)
"
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) "
นิพพาน
คือการดับกิเลสและกองทุกข์
เป็นโลกุตตรธรรม
และเป็นจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนา
"
พุทธทาสภิกขุ " นิพพาน
คือ ตัดโลภะ โทสะ โมหะ
ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งความร้อนได้จริง
"
นาคเสนเถระ " นิพพาน
เป็นอนุปาทนียะ
คือไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปทาน(ความยึดมั่น)
"
ในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี
กล่าวว่า "นิพพานนั้นเป็นที่ดับความเร่าร้อนที่เกิดจากวัฎทุกข์ทั้งหมด"
มีพุทธพจน์บทหนึ่งว่า "
ดูกรราธะ
ความสิ้นไปแห่งความอยากคือ
นิพพาน "
ความหมายนิพพานนั้น
ท่านแสดงไว้ ๔ นัย คือ:
๑.นัยปฏิเสธ เช่น
นิพพานคือความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ
สิ้นโมหะ, คือความสิ้นตัณหา ,
คือจุดจบแห่งทุกข์,
คือความไม่ตาย เป็นต้น
๒.นัยอุปมา เช่น
นิพพานเป็นเหมือนภูมิภาคอันราบเรียบน่ารื่นรมย์
, เหมือนไฟดับเพราะเชื้อเพลิงหมด
เป็นต้น
๓.นัยไวพจน์ เช่น คำว่า สงบ,
ปณีต, บริสุทธิ์, เกษม, อุดม
เป็นต้น
๔.นัยบรรยายภาวะโดยตรง
นัยนี้พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)ให้ทัศนะว่า
" แบบนี้มีน้อยแห่ง
แต่เป็นที่สนใจของนักศึกษานักค้นคว้ามาก
โดยเฉพาะผู้ถือพุทธธรรมอย่างเป็นปรัชญา
และมีการตีความกันไปต่างๆ
ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันได้มาก
"
การจำแนกนิพพานทั้ง ๔
นัยนี้
ยึดตามแบบหนังสือพุทธธรรม
ในคัมภีร์อรรถกถาสมันตปาสาทิกา
ภาค ๑
ท่านใช้นัยปฏิเสธเป็นไวพจน์ของนิพพาน
เช่น ความสิ้นไปแห่งตัณหา(ตัณหักขโย)
ความสิ้นไปแห่งราคะ(ราคักขโย)
เป็นต้น
ฉะนั้นจึงอาจรวมนัยปฏิเสธและนัยไวพจน์เข้าด้วยกัน
การดับแห่งขันธ์ ๕
ของพระอรหันต์
เปรียบเหมือนการดับของไฟที่หมดเชื้อ
จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเกิดหรือไม่เกิด
มีหรือไม่มี
หากแต่เป็นเพียงความเป็นไปตามธรรมชาติแห่งปรมัตถธรรมเท่านั้น
หากมีคำถามว่า นิพพานสูญ
กระนั้นหรือ? ข้อนี้ อ.วัชระ
งามจิตเจริญ
อาจารย์ประจำภาควิชาศาสนา-ปรัชญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ให้คำตอบว่า "เราจะเรียกนิพพานเป็นความขาดสูญก็ไม่ถูก
เพราะไม่มีตัวตน อะไรขาดสูญ
และการกล่าวว่า นิพพาน
คือการขาดสูญของวิญญาณหรือขันธ์
๕ จะกลายเป็นอุจเฉทวาทไป"
รวมความว่า
นิพพานคือภาวะที่ใจมีอิสระภาพจากเครื่องเศร้าหมองทั้งมวล
กล่าวคือ กิเลส
และนิพพานคือจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนา
ประเภทและระดับของนิพพาน
ตามหลักฐานในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา
ท่านจำแนกนิพพานเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ
ภาวะที่พระอริยบุคคลบรรลุความเป็นพระอรหันต์ด้วยการดับกิเลสคือ
โลภะ โทสะ และโมหะ อย่างเด็ดขาด
พระอรหันต์ประเภทนี้เบญจขันธ์ยังดำรงอยู่และเป็นไปตามปกติ
จึงต้องประสบกับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
แต่ความยินดีและความยินร้ายหาเกิดขึ้นแก่ท่านไม่
มีพุทธพจน์รับรองว่า "
ภิกษุทั้งหลาย
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นพระอรหันต์ผู้ขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์
ทำกิจที่ควรทำแล้วปลงภาระลงได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนแล้ว
สิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยรอบ
เธอย่อมเสวยอารมณ์ที่พอใจและไม่พอใจ
ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่
เพราะความที่อินทรีย์ห้าที่ยังไม่สึกหรอของเธอยังดำรงอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นราคะ โทสะ
โมหะ ของภิกษุนั้น เราเรียกว่า
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ"
นิพพานประเภทนี้
บางทีเรียกว่ากิเลสนิพพาน
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ
ภาวะที่พระอริยบุคคลดับกิเลสและขันธ์
๕ ดับโดยไม่เหลือ
เป็นภาวะหลุดพ้นโดยปลอดภัยจากวัฏฏสังสารอย่างสิ้นเชิง
มีพุทธพจน์รับรองว่า "ภิกษุทั้งหลาย
อนุปาทิเสสนิพพานเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นพระอรหันต์ผู้ขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์
ทำกิจที่ควรทำแล้ว
ปลงภาระลงได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนแล้ว
สิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว
เพราะรู้โดยชอบ
เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ของภิกษุนั้น
เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น
ให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว
จักดับเย็น ภิกษุทั้งหลาย
นี้เราเรียกว่า
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ"
อุปาทิ ศัพท์นี้
มีความหมาย ๒ อย่าง คือ
หมายถึงเบญจขันธ์ก็ได้
หมายถึงกิเลสก็ได้
ในคัมภีร์อรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ
เรียกการแบ่งอย่างนี้ว่า
เป็นการแบ่งตามปริยายแห่งเหตุ
แล้วแสดงวิธีแบ่งอีกอย่างหนึ่ง
ตามประเภทแห่งอาการ เป็นนิพพาน ๓
อย่าง โดยใช้คำว่า วิโมกข์ (ความหลุดพ้น)
เป็นไวพจน์ของนิพพาน คือ
๑. สุญญตวิโมกข์ คือ
ความหลุดพ้นด้วยการพิจารณาเห็นความว่างในนามรูป
โดยความเป็นอนัตตา คือ
ว่างจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๒. อนิมิตตวิโมกข์ คือ
ความหลุดพ้นด้วยการพิจารณาความไม่มีนิมิตในนามรูป
โดยความเป็นอนิจจัง คือ
ไม่ถือนิมิตในสัตว์ บุคคล ตัวตน
เรา เขา
๓ อัปปหิณิหิตวิโมกข์ คือ
ความหลุดพ้นด้วยการพิจารณาไม่ตั้งความปรารถนาในนามรูป
โดยความเป็นทุกขตา คือ
พิจารณาเห็นความเป็นไปตามธรรมชาติแห่งสังขตธรรม
บางแห่งท่านจำแนกนิพพานออกอีกเป็น
๓ ประเภท คือ
๑. สันทิฏฐิกนิพพาน คือ
นิพพานที่เห็นได้เอง
๒. ตทังคนิพพาน คือ
นิพพานที่ดับกิเลสด้วยองค์ธรรมนั้น
ๆ
๓. ทิฏฐธัมมนิพพาน คือ
นิพพานในชาติปัจจุบัน
?
?
ประเภทและระดับของผู้บรรลุนิพพาน
ทักขิไณยบุคคล หรือ
พระอริยบุคคล ท่านจำแนกไว้ ๔
ระดับ คือ
๑. พระโสดาบัน คือ
ผู้เข้าถึงกระแสแห่งอริยมรรค
เป็นผู้บริบูรณ์ในศีล
บำเพ็ญสมาธิและปัญญาได้พอประมาณ
ละสังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
๒. พระสกทาคามี คือ
ผู้กำลังถึงความสิ้นทุกข์
และอุบัติขึ้นในโลกอีกครั้งเดียว
เป็นผู้บริบูรณ์ในศีล
บำเพ็ญสมาธิปัญญาได้พอประมาณ
ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้ และทำราคะ
โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลงได้
๓. พระอนาคามี คือ
ผู้บำเพ็ญบารมีเกือบบริบูรณ์แล้ว
จะปรินิพพานในภพที่อุบัติขึ้น
เป็นผู้บริบูรณ์ในสีล สมาธิ
บำเพ็ญปัญญาได้พอประมาณ
ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕
ได้เด็ดขาด
๔. พระอรหันต์ คือ
ผู้ทำลายกิเลสได้อย่างเด็ดขาด
บำเพ็ญศีล สมาธิ
และปัญญาได้บริบูรณ์ ละสังโยชน์
๑๐ ประการได้ทั้งหมด
พระอริยบุคคล ๓ ประเภทแรก
เรียกว่า พระเสขะ
หรือผู้ที่ยังต้องศึกษาในไตรสิกขา
ส่วนพระอริยบุคคลประเภทที่ ๔
เรียกว่า พระอเสขะ
หรือผู้ศึกษาจนเจนจบบริบูรณ์แล้วในไตรสิกขา
ในส่วนพระอรหันต์นั้น
ท่านจำแนกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
พระปัญญาวิมุติ
คือผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
และพระอุภโตภาควิมุติ
หรือพระเจโตวิมุติ คือผู้ได้ฌาน
สมาบัติ และบรรลุพระอรหันต์ด้วย
?
วิธีเจริญ ผู้หวังบรรลุนิพพานต้องปฏิบัติตนตามอริยมรรคมีองค์
๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ
และสัมมาสมาธิ หรือ เรียกว่า
ปฏิบัติตนตามไตรสิกขา คือ ศีล
สมาธิ และปํญญา
?
เปรียบเทียบกิเลสกับนิพพาน
เพื่อง่ายต่อความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพาน
จะได้เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของสภาวะธรรมทั้ง
๒ นี้ ในบางประเด็นดังต่อไปนี้
?
กิเลส นิพพาน
?
สังขตธรรม,
โลกิยธรรม อสังขตธรรม,
โลกุตตรธรรม
?
เครื่องเศร้าหมองแห่งใจ,
ร้อน ความสงบผ่องใสแห่งใจ, เย็น
?
อนิจจัง,
ทุกขัง, อนัตตา นิจจัง, สุขัง,
อนัตตา
?
เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์
เป็นที่สิ้นทุกข์,
ไม่เป็นผลของเหตุ
?
ไม่สมบูรณ์,
ยิ่ง-หย่อน สมบูรณ์
?
มีเหตุปัจจัยอาศัยกันเกิด,
มีกาละเทสะเป็นตัวแปร
ไม่มีเหตุปัจจัย, ไร้กาละเทสะ
มีความหลากหลาย, ไม่อิสระ
มีหนึ่งเดียว, เป็นอิสระ
?
จากการเปรียบเทียบนี้
จะเห็นได้ว่า
กิเลสกับนิพพานมีความแตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง
ดูอาจเป็นเรื่องยากที่สิ่งที่มีความแตกต่างกัน
จะมีความสัมพันธ์ต่อกันได้
ในนัยนี้ ชี้ให้เห็นว่า
ความมีอยู่ของนิพพาน (อสังขตธรรม)
ไม่ได้เป็นสิ่งสัมพันธ์กับความมีอยู่ของกิเลส
(สังขตธรรม) โดยประการใด ๆเลย
กล่าวคือ
ความมีอยู่ของอสังขตธรรม
หาได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของสังขตธรรมไม่
ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้
ความแย้งกันกับหัวข้อรายงานฉบับนี้
ย่อมมี? แก้ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่
เมื่อมีมุมมองใหม่ไซร้
ความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานพึงมีได้
. มีอย่างไร ?
?
ความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพาน
?
ตามธรรมดาสิ่งที่มีลักษณะไม่เหมือนกัน
จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้น
นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานคงเป็นไปตามกฎนั้น
อย่างไรก็ตาม หากมองอีกแง่หนึ่ง
อาจสรุปได้ว่า "กิเลสกับนิพพานสัมพันธ์กัน"
โดยมีทัศนะดังต่อไปนี้
๑. กิเลสมี นิพพานจึงมี,
กิเลสไม่มี นิพพานก็ไม่มี =
ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า
กิเลสเป็นเหตุให้นิพพานเกิดขึ้น
และนิพพานเป็นผลของกิเลส
แต่มุ่งถึงความดับกิเลสของนิพพานเป็นสำคัญ
อุปมาเหมือนเมื่อความมืดมี
ความสว่างย่อมมี, อวิชชามี
วิชชาย่อมมี, ความทุกข์มี
ความสุขย่อมมี ฉะนั้น
มีพุทธพจน์รับรองว่า "ภิกษุทั้งหลาย
หากธรรมชาติที่ไม่เกิด
ปัจจัยอะไร ๆ ทำไม่ได้
ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อะไร ๆ
จะไม่ได้มีแล้ว
การสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิด
ที่เป็นปัจจัยอะไร ๆ ทำไม่ได้
ถูกปัจจัยปรุงแต่งจะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย"
ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า
หากกิเลส (สังขตธรรม) ไม่มีอยู่
นิพพาน (อสังขตธรรม)
จะไม่มีตามด้วย
แต่นิพพานจะปรากฏขึ้นต่อเมื่อกิเลสไม่มี
หรือ อีกนัยหนึ่ง นิพพานคือ
การสลัดออกจากสภาพปรุงแต่งคือกิเลส
อาจมีคำถามว่า
ถ้าสังขตธรรมไม่เกิดขึ้น
นิพพานก็ไม่มีเหมือนกัน ข้อนี้
พระมหาอุทัย ญาณธโร ให้คำตอบว่า"หากเรามองในอีกทางหนึ่งว่า
พระนิพพานเป็นสิ่งมีอยู่ก่อน
โดยที่สังขตธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง
ในแง่นี้ สังขตธรรมทั้งมวล
จึงกลายเป็นสิ่งสัมพันธ์กับพระนิพพาน
หรืออสังขตธรรมแทน
๒. กิเลสกับนิพพาน
มีสมุฏฐานเดียวกัน :
กิเลสและนิพพานเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่ใจเหมือนกัน
กล่าวคือ
กิเลสเป็นเจตสิกธรรมฝ่ายอกุศลและถูกปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นพร้อมกับจิต
ดังปรากฏในขุททกนิกาย มหานิเทส
ว่า
" โลภะ โทสะ และโมหะ
เกิดจากตนเอง
ย่อมเบียดเบียนใจคนเลว
เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น"
ส่วนนิพพานก็เกิดที่ใจในเมื่ออาสวะกิเลสสิ้นไป
ดังพุทธพจน์ว่า
"
จิตที่ปัญญาอบรมเต็มที่แล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย "
กิเลสกับนิพพานเกิดที่ใจเหมือนกัน
แต่ปรากฏต่างขณะจิตกัน
เปรียบเหมือนพี่น้องร่วมท้องมารดาคนเดียวกัน
แต่มีทัศนะคติไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น
๓. กิเลสหมดนิพพานมา :
ข้อนี้เป็นความสัมพันธ์แบบต่อเนื่องกันและกัน
กล่าวคือ เมื่อกิเลสค่อย ๆ หมดไป
หรือหมดแบบฉับพลัน นิพพานก็ค่อย
ๆ ปรากฏขึ้น
หรือปรากฏขึ้นแบบฉับพลัน
เหมือนอาทิตย์อุทัยส่องแสง
เพื่อขจัดความมืดพออาทิตย์อุทัยขึ้นเท่านั้น
ความมืดก็ถูกทำลายไป
ความสว่างปรากฏแทนที่ ฉะนั้น
๔.
กิเลสกับนิพพานเป็นคู่ปรับกัน :
ข้อนี้มีพุทธพจน์รับรองว่า "เพราะสังขตธรรมมีอยู่
แม้อสังขตธรรมก็มี
เพราะมีความเป็นคู่ปรับต่อสภาวะธรรม
เหมือนเมื่อทุกข์มี
แม้สุขที่เป็นคู่ปรับกับทุกข์นั้นก็มีอยู่เหมือนกัน
ฉะนั้น"
ความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นคู่ปรับเช่นนี้
เหมือนงูกับพังพอน,
กากับนกเค้าแมว, หมีกับไม้ตะคร้อ,
รัฐบาลพม่ากับนักศึกษาพม่า (ในปัจจุบันนี้)
เป็นต้น
๕. กิเลสเป็นตัวทุกข์
นิพพานเป็นที่สิ้นทุกข์ :
ความสัมพันธ์กันในแง่นี้ คือ
กิเลสเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งมวล
คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย
หรือสภาวะทุกข์
ความเศร้าโศกเสียใจ
พลัดพรากจากของรัก เป็นต้น หรือ
ปกิณกะทุกข์ รวมความว่า
กิเลสเป็นเบื้องต้นแห่งทุกข์
ส่วนนิพพานเป็นที่สุดแห่งทุกข์
ทั้ง ๒ อย่างอยู่คนละด้าน
แต่สัมพันธ์กันในฐานะที่อันหนึ่งเป็นเบื้องต้น
ส่วนอันหนึ่งเป็นที่สุดแห่งทุกข์
เหมือนปลายไม้ ๒ ด้าน
ที่อิงอาศัยกันและกัน
แต่ไม่เคยอยู่ด้านเดียวกัน
ฉะนั้น มีพุทธพจน์รับรองว่า "เมื่อละความยินดีได้
ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
ก็ไม่ต้องตายบ่อย ๆ
เมื่อไม่เกิดไม่ตายบ่อย ๆ
ชาตินี้ชาติหน้าก็ไม่มี
ระหว่างชาติทั้ง ๒ ก็ไม่มี
นี้เองชื่อว่า พระนิพพาน
อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์"
๖.
กิเลสกับสอุปาทิเสสนิพพาน :
หากมองในแง่ที่สอุปาทิเสสนิพพาน
หมายถึงการดับกิเลสได้บางส่วน
เช่น การดับกิเลสของพระโสดาบัน
พระสกทาคามี และพระอนาคามี
แต่กิเลสบางส่วนยังเหลืออยู่
ในข้อนี้ อาจารย์วศิน อินทสระ
ให้ทัศนะว่า"เหมือนกองไฟกองหนึ่ง
สมมติว่ามีฟืนอันเป็นเชื้อเพลิงมีอยู่
๑๐ ดุ้น
เมื่อชักเชื้อเพลิงออกเสีย ๓
ดุ้น ความร้อนของกองเพลิง
ย่อมลดลง ทำนองเดียวกัน
ความเร้าร้อนเพราะเพลิงกิเลสของพระโสดาบัน
พระสกทาคามี และพระอนาคามี
ย่อมบรรเทาลงมาก
แต่ยังไม่ถึงกับเย็นสนิท"
ความข้อนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานในลักษณะที่มีความเป็นไปพร้อม
ๆ กัน ต่างแต่เพียงว่า
กิเลสเป็นไปแบบอ่อนกำลังลงไปเรื่อย
ๆ
ในขณะที่นิพพานเป็นไปแบบเพิ่มพลังขึ้นเรื่อย
ๆ เหมือนกับกองไฟใหญ่ที่ค่อย ๆ
ดับลง
เพราะถูกห้วงน้ำที่ใหญ่กว่าท่วมทับทีละน้อย
ๆ ฉะนั้น
๘.
กิเลสกับนิพพานเป็นอนัตตา :
ธรรมทั้ง ๒ นี้ มีความสัมพันธ์กัน
คือมีอนัตตลักษณะ
เป็นลักษณะร่วม ต่างกันคือ
กิเลสอยู่ภายใต้เงื่อนไขของอนิจจลักษณะ
และทุกขลักษณะเท่านั้น
ดังพุทธพจน์ที่ว่า "สัพเพ ธัมมา
อนัตตา" แปลว่า ธรรมทั้งปวง
เป็นอนัตตาหรือมิใช่มีตัวตนที่เที่ยงแท้
ในวิสุทธิมรรค
พระพุทธโฆษาจารย์ให้ความหมายของอนัตตาไว้
๔ ประการ คือ
๑. สุญญโต
เพราะเป็นสภาพว่างจากสัตว์
บุคคล ตัวตน เรา เขา ที่เที่ยงแท้
๒. อัสสามิกโต
เพราะเป็นสภาพหาเจ้าของไม่ได้
๓. อวสวัตติโต
เพราะไม่เป็นไปตามอำนาจของใคร
๔. อัตตปฏิเขปโต
เพราะปฏิเสธอัตตาที่เที่ยงแท้
ความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานเท่าที่จำแนกนี้
อาจเป็นไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
และคาบเกี่ยวกันบ้างในการให้เหตุผลประกอบบางประเด็น
แต่ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นการยืนยันในบริบทแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานว่ามีความเกี่ยวโยง
และสนับสนุนกันและกันจนแยกยากออกจากกันได้
การเขียนรายงานเรื่องกิเลสกับนิพพานนี้
นับว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
เพราะนิพพานเป็นภาวะประณีต
มีอรรถลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก
ไม่อาจเข้าใจจนแจ่มแจ้งได้ด้วยการหาเหตุผลตามตรรกวิธี
อีกทั้งผู้เขียนยังถูกเครื่องพันธนาการคือกิเลสรึงรัดไว้อย่างแน่นหนา
เปรียบเหมือนคนว่ายน้ำวนเวียนกลางทะเลหลวง
มองไม่เห็นฝั่ง
มีเพียงความคาดหวังและความพยายามที่จะตะเกียกตะกายเพื่อพบฝั่งโดยสวัสดี
เท่านั้น (รายงานฉบับนี้พยายามให้มีพลความน้อยที่สุด
เพื่อให้เนื้อหากะทัดรัดและรัดกุม
แต่ก็เป็นไปตามทำนองที่เรียกว่า
"รักพี่เสียดายน้อง"
โบราณกล่าวไว้ว่า "ช้า ๆ ได้พร้า
๒ เล่มงาม"
สำนวนไทยบทนี้อาจจะขัดกันกับบทที่ว่า
"สุกเอา เผากิน"
รายงานฉบับนี้รู้สึกว่า
จะชอบใจสำนวนแรก
เพราะบังเอิญส่งเกินกำหนด
แต่อาจเกิดปัญหาว่า
ส่งรายงานเร็ว
แต่คุณภาพไม่ค่อยจะดี
และได้คะแนนน้อย กับส่งช้า
คุณภาพดีขึ้น
และได้คะแนนมากขึ้น
แต่ถูกตัดคะแนน
เพราะส่งเกินกำหนด ๒ อย่างนี้
อันไหนจะดีกว่ากัน ?
ปัญหานี้ไม่เป็นวิสัยของผู้เขียน
แต่คิดว่าอาจารย์ประจำวิชามีคำตอบชัดในใจอยู่แล้ว
แต่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
สรุป
ทัศนะภาคเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาท
จัดได้ว่าเป็นทัศนะภาคที่ยากยิ่งต่อการตีความให้เกิดความเข้าใจอย่างง่าย
ๆ ได้ด้วยโวหารบัญญัติ
อันเป็นโลกนิรุติซึ่งเป็นเพียงสมมติสัจจะระดับหนึ่งเท่านั้น
แต่ก็อาจเข้าใจได้ในระดับหนึ่งในนัยนี้คือ
กิเลสกับนิพพานมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
หรือเป็นไปในแนวเส้นขนาน
กล่าวคือ
กิเลสเป็นสภาวะที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
และเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
ส่วนนิพพานเป็นภาวะที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
และไม่เป็นเหตุและผลของสิ่งใด
เป็นแต่เพียงอาการที่จิตมีอิสรภาพปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงเท่านั้น
ธรรมทั้ง ๒ นี้
มีลักษณะร่วมกันคือ
ความเป็นสภาพที่มิใช่ตัวตน
และมีสมุฏฐานคือ ใจ เหมือนกัน
ฉะนั้น
ทัศนะภาคเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับนิพพานนี้
อาจให้ความรู้สึกว่าไม่เกินความเป็นจริง
หากมองมุมใหม่อาจให้ความรู้สึกว่าเกินความเป็นจริงก็ได้.
?
|