logo1.gif (3769 bytes)

sen.gif (11170 bytes)

รวมเว็บพุทธศาสนา การปกครองสงฆ สมณศักดิ์-พัศยศ พุทธรูปปางสำคัญ โชคชตาราศ

พุทธศาสนสุภาษิตบาลี-ไทย-อังกฤษ      

ประเพณี-วันสำคัญ สมาธิภวนา พิธีกรรม

ฉบับ พ.ศ.๒๕๐๕

ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๕

 
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕
เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
     โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฏหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
     จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้  
     โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนุญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้ 
     มาตรา ๑   พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕"
     มาตรา ๒   พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
     มาตรา ๓   ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔
     มาตรา ๔   ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฏกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฏองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช   ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์
ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้   ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดแย้ง
กับพระราชบัญญัตินี้   ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฏกระทรวง กฏมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกัน หรือขัดแย้งกัน หรือกล่าวไว้
เป็นอย่างอื่น
     มาตรา ๕   เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฏองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่
่ของพระภิกษุตำแหน่งใด หรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคม
มีอำนาจกำหนดโดยกฏหมายมหาเถรสมาคม ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใด
หรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้ 
     มาตรา ๖   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ
ออกกฏกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
     กฏกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑ 
สมเด็จพระสังฆราช

    มาตรา ๗  พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
    มาตรา ๘  สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดแย้งกับกฏหมาย พระธรรมวินัยและ
กฏมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๙    สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๑๐ ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
       ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชจะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน
ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
       ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

    
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสรองลงมาโดยพรรษาตามลำดับปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
      ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่
สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ในราชกิจจานุเบกษา
      มาตรา ๑๑  สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
      (๑)  มรณภาพ
      (๒)   พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
      (๓)  ลาออก
      (๔) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออก

หมวด ๒
มหาเถรสมาคม

       มาตรา ๑๒   มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
โดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะ
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่รูป และไม่เกินแปดรูป เป็นกรรมการ
      มาตรา ๑๓   ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๑๔   กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
      มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคม
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่ง คือ
      (๑)  มรณภาพ
      (๒)   พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
      (๓)  ลาออก
      (๔)   สมเด็จพระสังฆราชมีบัญชาให้ออก
       ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้ง
พระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน
       กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
      มาตรา ๑๖   ในเมื่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม
มหาเถรสมาคม และมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฎิบัติหน้าที่แทน ให้มหาเถรสมาคมแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน   การประชุม
มหาเถรสมาคมเพื่อการแต่งตั้งนี้ ให้กรรมการซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา
เป็นประธานแห่งที่ประชุม
      มาตรา ๑๗   การประชุมมหาเถรสมาคมต้องมีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยแต่งตั้ง
รวมกันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
       ระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคมให้เป็นไปตามกฏมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๑๘   มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อการนี้
ให้มีอำนาจตรากฏมหาเถรสมาคมออกข้อบังคับ วางระเบียบหรือออกคำสั่งโดยไม่ขัดแย้งกับกฏหมาย
และพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้
      มาตรา ๑๙   การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม และการให้ให้กรรมการมหาเถรสมาคมออก
จากตำแหน่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชา
สมเด็จพระสังฆราช

หมวด ๓
การปกครองคณะสงฆ์

       มาตรา ๒๐   การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามกำหนดในกฏมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๒๑   การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตการปกครองดังนี้
      (๑)  ภาค
      (๒) จังหวัด
      (๓) อำเภอ
      (๔) ตำบล
       จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฏมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๒๒   การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้มีพระภิกษุผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้
      (๑)  เจ้าคณะภาค
      (๒)  เจ้าคณะจังหวัด
      (๓)  เจ้าคณะอำเภอ
      (๔)  เจ้าคณะตำบล
       เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควร จะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้น ๆ   ก็ได้
      มาตรา ๒๓   การแต่งตั้ง ถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธิการที่กำหนดในกฏมหาเถรสมาคม

หมวด ๔
นิคหกรรมและการสละสมณเพศ

       มาตรา ๒๔   พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรมก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงแก่พระภิกษุต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
      มาตรา ๒๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฏมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว
และเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฏมหาเถรสมาคม
ให้มหาเถรสมาคม หรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ
ผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยกับทั้งการกำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้น ๆ นั้นด้วย
      มาตรา ๒๖   พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรม
ให้สึก ต้องสึกภายใจยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
      มาตรา ๒๗   พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
หรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรือไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง กับทั้งไม่มีที่อยู่
เป็นหลักแหล่ง มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้
       พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความในวรรคก่อน ต้องสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วัน
ที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
      มาตรา ๒๘   พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวัน
นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
      มาตรา ๒๙   พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด
ไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม
หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้
พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
      มาตรา ๓๐   เมื่อต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล
มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และรายงานให้ศาลทราบ
ถึงการสละสมณเพศนั้น

หมวด ๕ 
วัด

       มาตรา ๓๑  วัดมีสองอย่าง
      (๑)   วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว
      (๒)  สำนักสงฆ์
      มาตรา ๓๒ การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง
      ในกรณียุบเลิกวัด ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิกให้ตกเป็นศาสนสมบัติส่วนกลาง
      มาตรา ๓๓   ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้
      (๑)  ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น
      (๒)  ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
      (๓)  ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัด หรือพระศาสนา
      มาตรา ๓๔   ที่วัดและธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลใด ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์
      มาตรา ๓๕   ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
      มาตรา ๓๖    วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วย
เจ้าอาวาสด้วยก็ได้
      มาตรา ๓๗   เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้
      (๑)  บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
      (๒)   ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฏมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
      (๓)   เป็นธุระในการศึกษาอบรม และสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
      (๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
      มาตรา ๓๘ เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้
      (๑)   ห้ามบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่ในวัด
      (๒)   สั่งให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
      (๓)   สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอยู่ในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บน   หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งสั่งโดยชอบ
ด้วยพระธรรมวินัย กฏมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
      มาตรา ๓๙   ในกรณีไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฎิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทน
เจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส
     การแต่งตั้งผู้รักษาแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฏมหาเถรสมาคม

หมวด ๖
ศาสนสมบัติ

       มาตรา ๔๐ ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท
      (๑)  ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ทรัพย์สินของพระศาสนา ซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง
      (๒)   ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง
       การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนาเพื่อการนี้ให้ถือว่า
กรมการศาสนาเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย
      มาตรา ๔๑   ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลาง
ด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้งบประมาณนั้นได้

หมวด ๗
บทกำหนดโทษ

       มาตรา ๔๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรค ๒ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินหกเดือน
      มาตรา ๔๓  ผู้ใด
      (๑)   หมดสิทธิจะได้รับบรรพชาอุปสมบทโดยต้องปาราชิกมาแล้ว แต่มารับบรรพชาอุปสมบท
โดยปิดบังความจริง
      (๒)   ต้องปาราชิกแล้วไม่ละการแต่งกายอย่างเพศบรรพชิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
      มาตรา ๔๔   ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

หมวด ๘
เบ็ดเตล็ด

       มาตรา ๔๕   ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และ
ไวยาวัจกร เป็นพนักงานตามความในประมวลกฏหมายอาญา
      มาตรา ๔๖    การปกครองคณะสงฆ์ไทย ให้เป็นไปตามกฏกระทรวง

                                                                                                                        
                                                                                     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
                                                                                             จอมพล ส.ธนะรัชต์
                                                                                               นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ ;-   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือโดยที่การจัดดำเนินการกิจการคณะสงฆ์  
                           มิใช่เป็นกิจกาจอันพึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์   เพื่อการถ่วงดุลย์
                           แห่งอำนาจ เช่น เป็นที่อยู่ตามกฎหมายในปัจจุบันและโดยระบบเช่นว่านั้น
                            เป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่
                           ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปรินายก   ทรงบัญชาการคณะสงฆ์
                           ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อความ
                           เจริญรุ่งเรื่องแห่งพระพุทธศาสนา
.